ประวัติย่อ
พระครูบวรธรรมาภิรม (หลวงปู่บุญ) มีนามเดิมว่า “บุญ บุญเจริญ” เกิดวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม พุทศักราช ๒๔๖๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ณ บ้านละทาย ตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โยมบิดาชื่อ นายหนู บุญเจริญ โยมมารดาชื่อ นางปาน บุญเจริญ หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๒ จากพี่น้อง ๑๐ คน
ปฐมภูมิ ชีวิตวัยเยาว์
หลวงปู่ได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวชาวไร่ชาวนา ฐานะค่อนข้างยากจน พ่อ แม่ มีลูกหลายคน ชีวิตวัยเด็กหลวงปู่ต้องช่วยครอบครัวดูแลน้องๆ เมื่ออายุเข้าวัยเรียน โยมพ่อได้ส่งเข้าเรียนชั้นประถมต้นที่วัดละทาย ขณะเรียนอยู่ชั้นป.๔ โยมพ่อจึงได้ไปขอธรรมการโรงเรียนให้หลวงปู่ออกจากโรงเรียน เนื่องจากมีปัญหาทางบ้าน ทางธรรมการโรงเรียนมีความเห็นพ้องต้องกันว่าเด็กชายบุญมีความขยันหมั่นเพียรและการเรียนก็ดี ความจำก็ดีกว่าเพื่อนๆจึงอนุญาตให้ออกจากโรงเรียน
หลังจากหลวงปู่ออกจากโรงเรียน จึงได้มาช่วยโยมพ่อ และโยมแม่ทำไร่ทำนา เนื่องจากหลวงปู่เป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง หลังจากหมดหน้าทำนาแล้ว ก็ทำไร่อ้อย ไร่ปอ ไร่ฝ้าย เพื่อนำรายได้มาจุนเจื่อครอบครัว และยังรู้จักศึกษาหาความรู้ทั้งในด้านช่าง จนเก่งและชำนาญทางช่างหลายอย่าง ชีวิตในวัยเยาว์จึงเผชิญกับความยากลำบากและทำงานหนักมาตลอด แต่นั่นกลับเป็นพลังให้กลับหลวงปู่ยืนหยัดด้วยความภาคภูมิใจและเป็นประสบการณ์ที่หลวงปู่พร่ำสอนลูกศิษย์เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างแก่นแท้แห่งมนุษย์
มัชฌิมภูมิ สู่ร่มกาสาวพัตร
ด้วยศรัทธาธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า หวังเป็นทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนา หลวงปู่จึงตัดสินใจสละเพศคฤหัสถ์ สู่ชายผ้าเหลืองใต้ร่มเงาสาวพัตร เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโนนค้อ ตำบลโนนค้อ อำเภอกันทรารมย์ (ปัจจุบันอำเภอโนนคูณ) จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ เวลา ๑๔.๐๔ น. โดยมีเจ้าอธิการ ทา โกวิทโท เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการ กา ธมมสโร เป็นพระกรรมวาจา พระอธิการ โท สุรสฺทุโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า “วรธมฺโม” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีธรรมอันประเสริฐ”
ทั้งชีวิตสละได้สร้างไว้เพื่อปวงชน
หลังจากได้อุปสมบท หลวงปู่ได้มาจำพรรษาที่วัดโคกสว่าง(เหล่าเขมร) ตำบลหนองไฮ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมี ญาคูกา (พระอธิการกา กาติสโร) เป็นเจ้าอาวาส และในขณะนั้นเป็นช่วงที่กำลังตั้งหมู่บ้านใหม่ ด้วยความที่เป็นคนขยันขันแข็ง หลวงปู่ท่านก็ไม่อยู่นิ่งได้พาพระ-เณร และญาติโยมมาร่วมกันสร้างเสนาสนะเป็นกุฏิไม้ ๓ ห้อง ๒ หลัง ครัวไฟ (โรงครัว) ๑ หลัง รวมทั้งได้พาพระ-เณร ไปถางป่าไผ่ที่เป็นทางเกวียนเพื่อทำถนนให้ดีขึ้น จากโพนกกแต้ไปยังบ้านหนองหินและหาไม้ไปสร้างสะพานแทน “ขัว”บริเวณ “ห่องตามุม” เพราะว่าฝนตกทีไรก็ไม่สามารถที่จะข้างฝั่งได้ ถึงฝนตกฟ้าร้องหลวงปู่กับพระ-เณร ก็พากันสร้างสะพานจนแล้วเสร็จ เพื่อให้รถจิ๊บ , เกวียน วิ่งผ่านไปได้เพื่อการคมนาคมขนส่งติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ และเข้าไปแลกเปลี่ยนสินค้าที่อำเภอได้สะดวก
ถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ “ญาคูกา” (พระอธิการกา กาตีสสโร) ได้ลาสิกขาบทไป หลวงปู่จึงเป็นผู้ดูแลรักษาวัด หลังจากนั้นจึงไปศึกษา “คำภีย์มูลกระจาย” กับพระอุปชฌาย์อ้วน โสรโณ จนแตกฉานและศึกษาพระธรรมวินัยที่สำนักเรียนวัดโนนค้อ และสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปีนั้น
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ พระอธิการจันทาพร้อมกับหลวงปู่น้อย (ปู่โลน) และพระ-เณร อีกจำนวนหลายรูปมาจำพรรษาที่วัดโคกสว่าง ได้พาญาติโยมสร้างกุฏิขึ้นอีก ๒ หลัง หลวงปู่ท่านก็ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเวียงหลวง อำเภอม่วงสามสิบ (ปัจจุบันอำเภอหัวตะพาน) จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการไม่อยู่นิ่งและการฝักใฝ่หาความรู้ครั้นเมื่ออกพรรษาหลวงปู่ท่านก็ได้กลับมาเรียน ณ สำนักเรียนวัดบ้านโปร่ง อำเภอกันททรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษและสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปีนั้น

และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ชาวบ้านหนองถ่ม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้สร้างวัดขึ้นจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่ไปจำพรรษาที่วัด ตอนแรกหลวงปู่ตั้งใจว่าจะจำพรรษาเพียง ๑ พรรษา แต่เมื่อไปอยู่ด้วยความที่เป็นคนขยัน จึงได้พาชาวบ้านปลูกสร้างเสนาสนะและพัฒนาวัดจนมีความเจริญร่งเรือง ด้วยคุณงามความดีของหลวงปู่ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองถ่มในปีนั้น ด้วยภารกิจทั้งงานปกครองพัฒนาและเผยแผ่ ทำให้หลวงปู่อาพาธไม่สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้
กลับมาพัฒนาสุดทะหยิ่ง
และต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ เมื่องานด้านพัฒนาและเผยแผ่มีสหธรรมมิกภิกษุอีกหลายรูปร่วมแบ่งเบาภาระ หลวงปู่จึงมีเวลาศึกษาพระปริยัติและสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่สำนักเรียนหนองถ่มในปีนั้น

วันพุธที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗ หลวงปู่น้อยได้มรณภาพลง ชาวบ้านโคกสว่างพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่ (บุญ วรธฺโม) มาจำพรรษาที่วัดโคกสว่างและดูแลศพหลวงปู่น้อย ด้วยการที่เป็นคนขยัน หลวงปู่จึงพาญาติโยมปลูกสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง ๗ ห้อง และจัดงานฌาปนกิจศพหลวงปู่น้อยจนแล้วเสร็จ
ลัทธิวิหาริกเพิ่มขึ้น เสนาสนะควรเพิ่มขึ้น
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ เดือนเมษายน ได้จัดงานพุทธาภิเษกฉลองอุโบสถและศาลาการเปรียญ ในพรรษานี้มีพระค่ำ เขียวอ่อน มาจำพรรษาและดูแลรักษาวัดโคกสว่างอยู่ ๒ พรรษา ครั้นออกพรรษาท่านก็ลาสิขาบทไป
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ หลวงปู่ได้พาญาติโยมสร้างกุฏิขึ้นอีก ๑ หลัง ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นไม้หลังคามุงกระเบื้อง ชั้นล่างเป็นคอนกรีตทั้งหมด ขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๙ เมตร
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ หลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโคกสว่าง นับจากนั้นบ้านโคกสว่างได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน หลวงปู่ได้รับการเลื่อนยศฐานานุกรมและราชทินนาม ที่พระครูบวรธรรมภิรม (บ = บ้าน, ว = วัด, ร = โรงเรียน, ธรรมมาภิรม = สุขในธรรม)

ต่อมาได้สร้างหอระฆังขึ้นอีก ๑ หลัง ๔ ชั้น โดยชั้นที่ ๑ เป็นหอกลองเพลมีขนาดใหญ่ทำด้วยไม้แคน (ไม่ตะเคียนทอง) ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งมีคุณสมบัติถูกต้องตามตำราโศลกกลอง ซึ่งไม้แคนนี้หลวงปู่ท่านต้องพาญาติโยมไปตัดมาจากลำน้ำ “ห้วยขยุง” เนื่องจากต้นไม้แคนต้นนี้โค่นล้มลงกลางลำน้ำต้องดำน้ำลงไปตัดกว่าจะได้มาก็พบอุปสรรคและความลำบากยากเข็ญ
สร้างกำแพงแก้ว สร้างเวนิสถานให้ผู้ล่วงลับ

ต่อมาได้สร้างหอฉันเทคอนกรีต ๗ ห้อง ขึ้นอีก ๑ หลัง โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๙ เดือนจนแล้วเสร็จ
พระประธานองค์ใหญ่ อานิสงส์ยิ่งใหญ่
ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ หลวงปู่ท่านได้ปรารถกับศิษยานุศิษย์เรื่องการก่อสร้างพระประธานองค์ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นที่สัการะบูชาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพระพุทธศาสนิกชน จึงได้ก่อสร้าง “พระพุทธอุดม” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๗.๔๙ เมตร สูง ๑๙.๔๙ เมตร โดยทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ แล้วเสร็จปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ งบประมาณก่อสร้าง ๑,๒๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่และสวยงามที่สุดในแถบนี้
เหนื่อยทั้งชีวิต อุทิศไว้ให้ลูกหลาน
เมื่อการก่อสร้าง พระพุทธอุดม แล้วเสร็จสมบูรณ์ หลวงปู่ท่านได้ตั้งใจจะจัดงานสมโภชขึ้น ด้วยเล็งเห็นว่าบริเวณวัดโดยรอบเป็นพื้นดิน เมื่อดินแห้งทีลมพัดมีฝุ่นละอองหรือถ้าฝนตกย่อมเป็นอุปสรรค ต่อมาผู้แสวงบุญบุย จึงได้บอกบุญไปถึงทายกทายิกา ให้ร่วมแรงร่วมใจกันมาเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กโดยรอบบริเวณวัดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เข้ามาประกอบพิธีกรรมและศาสนกิจโดยทั่วไปนับได้ว่าตลอดชีวิตสมณเพศของหลวงปู่ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะสร้างไม่ละเลยงานพัฒนาที่จะนำพาความเจริญสถาพรมาสู่ลูกหลาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระภิกษุผู้สร้าง พระนักพัฒนา โดยแท้จริง
ข้อมูลจาก : หนังสือที่ระลึกงานฉลองพุทธาภิเษกพระพุทธอุดม วัดบ้านโคกสว่าง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี
ข้อมูลจาก : หนังสือที่ระลึกงานฉลองพุทธาภิเษกพระพุทธอุดม วัดบ้านโคกสว่าง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี